วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์คาบสมุทรเกาหลี

วิกฤตการณ์คาบสมุทรเกาหลี

          ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คาบสมุทรเกาหลีได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 คาบสมุทรเกาหลีได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ โดยโซเวียตควบคุมดูแลดินแดนส่วนเหนือหรือเกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกาดูแลดินแดนทางใต้ของเส้นขนานที่ 38 เรียกว่า เกาหลีใต้ 
สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก AFP
          ในปี ค.ศ. 1948 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มถอนทหารออกจากดินแดนดังกล่าว ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ คิม อิล ซุง ส่วนในเกาหลีใต้นั้นมีการปกครองในแบบประชาธิปไตยภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา

          ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต ได้โจมตีเกาหลีใต้เพื่อรวมเกาหลีทั้งหมดให้อยู่ภายใต้คอมมิวนิสต์ โดยคิดว่า สหรัฐอเมริกาคงจะไม่ปกป้องเกาหลีใต้ เพราะผู้นำของสหรัฐอเมริกาได้เคยประกาศว่า แนวป้องกันของสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่หมู่เกาะชายฝั่งตั้งแต่ญี่ปุ่นถึงฟิลิปปินส์ แต่เมื่อกองทัพของเกาหลีเหนือรุกผ่านเส้นขนานที่ 38 ลงสู่เกาหลีใต้อย่างรวดเร็ว สหรัฐอเมริกาได้มองการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการท้าทายของฝ่ายคอมมิวนิสต์และเป็นการพยายามที่จะขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามาในเอเชีย

           สหรัฐอเมริกาได้ประท้วงการรุกรานเกาหลีใต้ต่อคณะมนตรีความมั่นคงและองค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้มีมติให้ดำเนินการตอบโต้ โดยกำลังทหารของสหประชาชาติและของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกแมคอาร์เธอร์ ได้โจมตีกำลังของฝ่ายเกาหลีเหนือจนถอยร่นไปถึงเส้นขนานที่ 38 ทำให้ผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนออกแถลงการณ์เตือนมิให้กำลังของฝายสหประชาชาติและของสหรัฐอเมริกาล่วงล้ำเลยเข้าไปในดินแดนเกาหลีเหนือ มิฉะนั้นจีนจะเข้าสู่สงครามด้วย เพราะจีนเกรงว่าถ้าเกาหลีเหนือถูกยึดครอง จีนจะขาดรัฐกันชน และเป็นการคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของจีน

          แต่ทว่า กองกำลังของสหประชาชาติไม่สนใจคำเตือนของจีน ตัดสินใจรุกข้ามเส้นขนานที่ 38 จีนจึงส่งกองกำลังข้ามพรมแดนจีนที่แม่น้ำยาลู เข้าสู่คาบสมุทรเกาลีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1950 และปะทะกับทหารสหประชาชาติในเดือนพฤศจิกายน การสู้รบเป็นไปอย่างยืดเยื้อโดยไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจีนจะสูญเสียกำลังเป็นอย่างมาก 

          ขณะที่ประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกาได้มีความเห็นขัดแย้งกับพลเอกแมคอาเธอร์เกี่ยวกับนโยบายในการทำสงคราม โดยประธานาธิบดีทรูแมนต้องการจำกัดการปฏิบัติการทางทหาร เพราะไม่ต้องการให้สงครามขยายตัวจนอาจเป็นสงครามโลกได้ แต่นายพลแมคอาเธอร์ไม่เห็นด้วย ประธานาธิบดีทรูแมนจึงได้สั่งปลดนายพลแมคอาเธอร์ออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1951 

           ต่อมาในเดือนมิถุนายน โซเวียตเสนอให้มีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในเกาหลี การเจรจาได้ดำเนินอยู่หลายปี ก็สามารถลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือฝ่ายหนึ่ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1953 สงครามในคาบสมุทรเกาหลีจึงได้ยุติลง แต่ความตึงเครียดบริเวณพรมแดนที่เส้นขนานที่ 38 ยังคงดำรงอยู่

          สงครามเกาหลีได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียหลายประการ เนื่องจากสงครามเกาหลีนับเป็นการเผชิญหน้าทางทหารครั้งแรกระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาและประณามว่าเป็นผู้รุกรานและก้าวร้าว คำประณามของสหรัฐอเมริกาทำให้ภาพพจน์ของจีนเสียหายในสายตาของชาวโลก เพราะมองว่าการที่จีนจำต้องเข้าร่วมรบในสมรภูมิเกาหลี ก็เพื่อป้องกันมิให้เกาหลีเหนือถูกยึดครอง ซึ่งจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของจีนและยิ่งไปกว่านั้นในการร่วมสงครามครั้งนี้ จีนต้องสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งจีนมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้จีนต้องชะลอการฟื้นฟูบูรณะประเทศไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น