สภาวการณ์หลังสงครามเย็น
ในช่วงทศวรรษ 1980-1991 ถือเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในสหภาพโซเวียต เมื่อในช่วงนั้นสาธารณรัฐเล็ก ๆ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสหภาพโซเวียตได้เริ่มปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากโซเวียต และโดยเฉพาะในช่วงปี 1985-1991 ที่ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ได้นำนโยบายกาสนอสท์-เปเรสทรอยก้า มาใช้ปฏิรูปประเทศ ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวได้ทำให้ประชาชนในสหภาพโซเวียตเริ่มตระหนักถึงเสรีภาพในการดำรงชีวิต และในที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
ทั้งนี้ เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในโซเวียตล่มสลายแล้วก็นับเป็นการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นและเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 หรือโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่จัดเป็นโลกในสังคมแห่งยุคข่าวสาร จากนั้นบทบาทของโซเวียตในเวทีโลกก็ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะการแตกออกเป็นสาธารณรัฐต่าง ๆ ทำให้สหภาพโซเวียตเดิมอ่อนแอลงมาก อีกทั้งการเกิดขึ้นของรัสเซียใหม่ (Neo-Russia) ภายหลังการล่มสลายของโซเวียต ก็ทำให้รัสเซียต้องหมกมุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองภายในของตัวเอง และปัญหาของการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในเครือจักรภพรัฐเอกราช ดังนั้นจึงทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามามีบทบาทเต็มที่เพียงหนึ่งเดียวในโลกยุคโลกาภิวัตน์
นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เป็นนับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของสงครามเย็น ก็คือ การทำลายกำแพงเบอร์ลิน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และการรวมประเทศเยอรมนีทั้งสองเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1990 พร้อมกับการสิ้นอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศของยุโรปตะวันออก และการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพหลังยุคสงครามเย็นอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น