วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์ช่องแคบฟอร์โมซา/วิกฤตการณ์คิวบา

วิกฤตการณ์ช่องแคบฟอร์โมซา

           แต่เดิมเกาะไต้หวันมี ชื่อว่า เกาะฟอร์โมซา (Formosa) หรือ Ilha Formosa ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า "เกาะสวยงาม" เนื่องจากประเทศโปรตุเกสเคยเดินทางมายังเกาะนี้และได้ตั้งชื่อเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ยึดเอามาเป็นอาณานิคม

          ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1954 จีนมีนโยบายที่จะรวมไต้หวันกลับคืนมาเป็นของจีน แต่ทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือที่ 7 มาลาดตระเวนในทะเลจีนตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ช่องแคบไต้หวัน ทำให้จีนพยายามผลักดันให้สหรัฐอเมริกาออกจากบริเวณนี้ ด้วยการระดมยิงหมู่เกาะนอกฝั่งที่ช่องแคบไต้หวัน อันได้แก่ เกาะคีมอยและเกาะมัทสุ 

          สหรัฐอเมริกามองว่าจีนเป็นผู้รุกราน ดังนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1954 สหรัฐอเมริกาจึงออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐอเมริกาจะป้องกันเกาะคีมอยและเกาะมัทสุ เช่นเดียวกับเกาะไต้หวัน จากนั้น สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองทหารไปประจำที่ไต้หวันและได้ลงนามในสัญญาพันธมิตรทางทหารเพื่อการป้องกันร่วมกันกับไต้หวัน 
          เมื่อจีนเห็นว่าวิธีการของตนไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กลับทำให้สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวันยิ่งขึ้น จีนจึงลดการะดมยิงและยุติไปในที่สุด ขณะที่สหรัฐอเมริกามองว่าจีนเป็นตัวแทนของโซเวียต เพราะจีนได้ลงนามในสัญญามิตรภาพ พันธมิตรและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นเวลา 30 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 สหรัฐอเมริกาจึงเริ่มนโยบายปิดล้อม (Containment Policy) เข้ามาในเอเชีย โดยการทำสัญญาพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เป็นต้น


วิกฤตการณ์คิวบา

          คิวบาได้เปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 เมื่อนายฟิเดล คาสโตร สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการของนายพลบาติสตา (Batista) ซึ่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอยู่ คาสโตรต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในคิวบาให้มีความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยดำเนินการปฏิรูปที่ดินและปรับปรุงสวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชน 

          คาสโตรเป็นนักปฏิวัติชาตินิยมและต่อต้านสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาเข้าครอบงำและมีอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในคิวบามาเป็นเวลาช้านาน อีกทั้งยังมีฐานทัพอยู่ที่กวนตานาโม (Guantanamo) บนเกาะคิวบา คาสโตรจึงรู้สึกหวาดระแวงสหรัฐอเมริกาและมีนโยบายใกล้ชิดกับประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเวียตซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านทหารและทางเศรษฐกิจแก่คิวบา 

          ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างคิวบากับโซเวียตทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ เพราะจะช่วยขยายอิทธิพลของโซเวียตแถบทะเลแคริบเบียนและอเมริกากลาง ในขณะเดียวกันชาวคิวบาที่ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการฝึกฝนและสนับสนุนจากองค์การข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอของสหรัฐอเมริกาให้ยกพลขึ้นบกในคิวบาเพื่อโค่นล้มคาสโตร แผนการนี้ได้เริ่มในปลายสมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ ต่อมาเมื่อได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดีเคเนดี้ 


สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก AFP
           กองกำลังคิวบาลี้ภัยได้ยกพลขึ้นบกที่เบย์ ออฟ พิกส์ (Bay of Pigs) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 เพียง 3 เดือนภายหลังจากที่เคเนดี้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยผู้ลี้ภัยคิวบาเหล่านี้ คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการโค่นอำนาจคาสโตร แต่การยกพลขึ้นบกครั้งนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะขาดการวางแผนที่ถูกต้องและการประสานงานกับชาวคิวบาที่ต่อต้านคาสโตรภายในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น กองกำลังปฏิวัติของคาสโตรสามารถจับกุมชาวคิวบาลี้ภัยเหล่านี้และใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา ภาพพจน์ของสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีเคเนดี้ต้องเสียหายอย่างมากจากกรณีการบุกคิวบาในครั้งนี้ 

          คิวบาได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในปีต่อมา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาได้ค้นพบจากภาพถ่ายทางอากาศว่า โซเวียตกำลังสร้างฐานส่งขีปนาวุธนิวเคลียร์บนเกาะคิวบา ซึ่งถ้าหากสร้างสำเร็จและติดตั้งขีปนาวุธได้ก็จะเปรียบประดุจมีขีปนาวุธนิวเคลียร์อยู่หน้าประตูบ้านของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

          ขณะที่ ครุสชอฟ ประธานาธิบดีของโซเวียต คงคิดว่าจะสามารถลอบสร้างฐานยิงจนเสร็จ และเมื่อติดตั้งขีปนาวุธแล้วสหรัฐอเมริกาก็คงไม่กล้าทำอะไร เพราะจะเป็นการเสี่ยงอย่างมากต่อสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งสหรัฐอเมริกาก็ดูเหมือนจะไม่กล้าใช้กำลังรุนแรงโซเวียต เพราะเชื่อว่าตนจะได้เปรียบทางยุทธศาสตร์และจะทำให้พันธมิตรนาโต้ของสหรัฐอเมริกาหมดความเชื่อถือว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถปกป้องยุโรปตะวันตกได้เมื่อเกิดสงคราม 

          แต่ผู้นำของโซเวียตก็คาดคะเนผิดพลาด เพราะประธานาธิบดีเคเนดี้ของสหรัฐอเมริกาได้ตอบโต้อย่างหนักแน่นโดยการปิดล้อมคิวบา ในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดีเคเนดี้ได้แจ้งให้โซเวียตทราบถึงการปิดล้อมคิวบา พร้อมเตือนโซเวียต ในระหว่างวิกฤตการณ์กองกำลังยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้เตรียมพร้อมต่อการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปชี้แจงสถานการณ์พร้อมด้วยภาพถ่ายและหลักฐานอื่น ๆ ต่อคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติและพันธมิตรในยุโรป

          จุดวิกฤตของสถานการณ์ครั้งนี้ก็คือ เมื่อเรือสินค้าจำนวนหนึ่งของโซเวียต ซึ่งเชื่อว่าบรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์เพื่อมาติดตั้งยังคิวบาได้เข้าใกล้กองเรือของสหรัฐอเมริกาที่กำลังปิดล้อมคิวบาอยุ่ในวันที่ 24 ตุลาคม แต่เรือเหล่านี้ก็หันลำกลับไปยังโซเวียต โดยมิได้ฝ่ากองเรือปิดล้อมเข้ามา ซึ่งถ้าหากโซเวียตไม่ยอมอ่อนข้อในกรณีนี้ สงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองก็อาจเกิดขึ้นได้

           อีก 4 วัน ต่อมา ครุสชอฟผู้นำของโซเวียตก็ยอมประนีประนอม และแถลงว่าจะถอนฐานยิงและจรวดต่าง ๆ ออกไปจากคิวบา ถ้าหากสหรัฐอเมริกายอมตกลงที่จะไม่บุกคิวบา ในที่สุดวิกฤตการณ์อันตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย ประธานาธิบดีเคเนดี้แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับการยกย่องว่ามีความกล้าหาญและชาญฉลาดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ใช้เครื่องมือทางการทูตและการทหารที่เหมาะสมเปิดโอกาสและทางออกให้ฝ่ายตรงข้ามอย่างโซเวียตเสียเกียรติภูมิไปบ้าง


          และต่อมาครุสชอฟถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และใน ค.ศ. 1965 เลโอนิด เบรสเนฟ (Leonid Brezhnev) ได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แทน ในขณะเดียวกันนั้นเอง ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ความสำเร็จในวิกฤตการณ์คิวบา ทำให้ผู้นำของสหรัฐอเมริกามีความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพและความแข็งแรงของตน ส่วนโซเวียตก็ได้รับบทเรียนและเร่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีความเท่าเทียมทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริกา


สงครามเย็น
ภาพประกอบจาก GERARD MALIE / AFP

สงครามเย็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น